อาหารพื้นถิ่น ของกินพื้นบ้าน


เสน่ห์อย่างหนึ่งของการไปพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ก็คือการได้ชิมอาหารท้องถิ่นพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิธีเข้าถึงวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อได้มาพักที่โฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว ในตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากจะได้มาชมวิถีประเพณีโดดเด่นอย่างการ "ตักบาตรหาบจังหัน" แล้ว ก็ยังได้ชิมอาหารท้องถิ่นที่มีนอกจากจะมีรสชาติเยี่ยมแล้วยังดีต่อสุขภาพและมีความหมายดีๆ อีกด้วย

ด้วยความที่ชาวบ้านหาดสองแควมีเชื้อสาย "ลาวเวียง" หรือชาวลาวจากเมืองเวียงจันท์ ซึ่งนิยมกินข้าวสวยมากกว่าข้าวเหนียว จึงทำให้เมนูอาหารหลายๆ อย่างมีส่วนผสมของปลาร้า อีกทั้งที่ตั้งของบ้านหาดสองแควยังมีสายน้ำสองสายไหลมาบรรจบ คือแม่น้ำน่านและคลองตรอน ทำให้มีปลามากมายหลายชนิดกินเป็นอาหารหลัก เมื่อปลาเยอะจนกินไม่ทันขายไม่หมด ก็จะนำมาถนอมอาหารด้วยการทำปลาร้า ดังนั้นอาหารหลายๆ อย่างจึงใส่น้ำปลาร้าเพื่อเป็นเครื่องปรุงรส ชูรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น

อั่วบักเผ็ด

อาหารพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อาหารพื้นบ้านที่นักท่องเที่ยวได้กินแล้วติดใจกันทุกคน คือ อั่วบักเผ็ด หรืออั่วพริก เป็นภาษาลาว อั่ว หมายถึง ไส้ หรือ การยัดไส้ ส่วนบักเผ็ด หมายถึง พริก วัตถุดิบสำคัญของอั่วบักเผ็ดคือข้าวโพด วัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ ประกอบด้วย กระชาย หอมแดง ตะไคร้ หมูสับ ปลาร้า ใบแมงลัก และไข่ไก่ วิธีทำไม่ยาก เริ่มจากการคว้านไส้พริกหยวก สีเขียวอวบ ต้องเบามือหน่อย เดี๋ยวพริกขาด ไม่ก็บาดมือเสียก่อน นำส่วนผสมทั้งหมดโขลกให้ละเอียด แล้วนำไปยัดในพริกที่เตรียมไว้ จากนั้นนำไปทอดด้วยไฟปานกลาง  ทิ้งไว้สักพัก ค่อยๆ แซะ อย่าให้ติดก้นกระทะ ทอดจนพริกและไส้ สุกเหลืองกำลังดีตักขึ้น พักไว้ ให้สะเด็ดน้ำมัน รับประทานกับข้าวสายร้อนๆ หรือจะกินเป็นของกินเล่นก็ได้ อร่อยจนต้องยกให้เป็นเมนูเด็ดของชุมชนหาดสองแคว

แจ่วเอาะ

เมนูพื้นบ้านที่ทำทานกันเป็นประจำทุกวัน ทานกับผักสด ผัดต้ม ทำทานกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ วัตถุดิบก็หาได้ตามรั่วบ้านในชุมชน  เอาะแจ่ว ทำได้ทั้งพริกสดและพริกแห้งแล้วแต่คนชอบ เป็นอาหารที่คนหาดสองแควทำเป็นกันทุกครัวเรือน และเหมือนจะเป็นอาหารที่ต้องมีอยู่ในสำรับข้าวเกือบทุกมื้อ จึงอยากจะนำมาเขียนให้ทุกท่านได้ทราบถึงวิธีทำที่แสนง่ายดังนี้ นำพริกสดหรือพริกแห้ง  หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ เผา ให้พอเกรียม จากนั้นนำพริก หอม กระเทียม มาโคลกรวมกันให้ละเอียด นำปลา(ถ้าเป็นปลาสังขวาดจะอร่อยมาก)  ต้มกับน้ำปลาร้า และนำเนื้อปลามาโคลกรวมกัน  ส่วนน้ำปลาร้านำมากรองเอาก้างออกและผสมรวมกับพริกที่โคลกรวมกันไว้  จากนั้นนำไปตั้งไฟให้เดือดปรุงรสตามใจชอบ ใส่ใบนางลัก  เป็นอันเสร็จ เอาะแจ่ว ต้องกินกับผักสดหรือผักต้มก็ได้  ผักส่วนใหญ่ที่คนหาดสองแควนำมารับประทานก็จะเป็นผักสวนครัวรั้วกินได้ เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ชะอม กระถิน ยอดมะกอก เป็นต้น

แกงโอ๊ะเอ๊ะ

แกงโอ๊ะเอ๊ะ อาหารพื้นบ้านของคนหาดสองแคว ที่มีตั้งแต่บรรพบุรุษ คนหาดสองแควเรียกว่าแกงโอ๊ะเอ๊ะ มีผักอะไรก็เอามาใส่ หาอะไรได้ก็เอามาใส่  จะคล้ายๆ กับแกงเรียง วิธีการทำแกงโอ๊ะเอ๊ะ เริ่มจากการเตรียมเครื่องปรุง คือ ตะไคร้ หอมแดง กระชาย ปลาย่าง กุ้งแห้ง กะปิหรือปลาร้า พริกไทยดำหรือขาว พริกแห้ง  ผักที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้านที่หาได้ง่ายตามรั้วบ้านในชุมชนหรือเป็นผักที่มีตามฤดูกาล เช่น ยอดฝักทอง ลูกฝักทองอ่อนหรือแก่ก็ได้ บวบ เห็ดนางฟ้า ข้าวโพดอ่อนหรือเมล็ดข้าวโพด  ใบนางลัก นำเครื่องปรุงทั้งหมดมาโขลกรวมกัน ยกเว้นตะไคร้ที่จะนำไปทุบ หันเป็นท่อน ตั้งน้ำให้เดือดใส่ตะไคร้และเครื่องปรุงที่เตรียมไว้ลงหม้อ(ถ้าเป็นหม้อดินจะทำแกงโอ๊ะเอ๊ะหอม)  จากนั้นใส่ฝักทอง ปรุงรสชาติตามใจชอบ เมื่อได้รสตามต้องการแล้วจึงใส่ผักลงไป พอสุกจึงใส่ใบนางลัก เราก็จะได้แกงโอ๊ะเอ๊ะ ที่หอมอร่อยน่ารับประทานด้วยผักปลอดสารพิษ

ผัดบักมี่

ผัดขนุน หรือผัดบักมี่ ในภาษาลาวหาดสองแคว เป็นอีกหนึ่งเมนูพื้นบ้าน ที่ใช้วัตถุดิบรอบรั้วบ้านมารังสรรค์ ใช้ขนุนอ่อน ปอกเปลือกต้ม นำขนุนไปใส่ครก ตำคลุกกับพริกแกง บางบ้านก็ไม่ใช่พริกแกง แต่ตำใส่ปลาย่าง แล้วสูตรบ้านนั้นๆ จากนั้นเจียวกากหมู แล้วใช้น้ำมันจากที่ได้มาผัด ปรุงรส หวาน เค็ม คลุกเคล้าให้เข้ากัน โรยใบมะกรูดซอยเพิ่มความหอมอีกสักหน่อย เคาะกระทะสัก 3 ที กระพือกลิ่นให้ลอยหอมไปสามบ้านเจ็ดบ้าน ทานพร้อมข้าวสวยร้อนๆ หรือจะปั้นข้าวเหนียวจิ้ม ก็อร่อยเข้ากัน

แกงหยวก

แกงหยวก หรือ แกงเยื่อใย เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารที่ใช้ต้อนรับผู้มาเยี่ยมบ้านเยี่ยมเรือน เน้นวัตถุดิบรอบรั้วบ้าน ซึ่งในความหมายของหยวกกล้วยนั้น จะมีลักษณะมีสายใย สื่อได้ว่า จะได้มีเยื่อใยให้กัน ผู้มิตรไมตรีร่วมกัน จึงเป็นเรื่องราวของแกงเยื่อใย วิธีรังสรรค์เมนู เริ่มจากปอกต้นกล้วยจนถึงไส้ใน นำมาหันแว่นๆ ปั่นเอาใยออก เตรียมหัวกะทิตั้งไฟ ตำพริกแกง นำไปผัดกับหมูหรือไก่แล้วแต่ชอบ คลุกเคล้าผัดจนหอม นำไปใส่ในกะทิที่เคี้ยวไว้  ขาดไม่ได้คือใส่ปลาร้ารสเด็ด ใส่หยวก ใส่ใบชะพลู ยอดชะอม บางบ้านใส่ปลาย่างเป็นชิ้นๆ ปรุงรสกลิ่นหอมยั่วๆ  เป็นอันพร้อมเสิร์ฟ ตักแจกเพื่อนบ้าน ทานกับข้าวสวยร้อนๆ

ขนมวง

ขนมวง เป็นขนมโบราณพื้นบ้านของชุมชนลาวเวียง ตำบลหาดสองแคว ได้มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากประเทศลาว สมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2371 ซึ่งเป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวแล้วนำไปทอด โดยจะมีลักษณะเป็นวงกลมมีรูตรงกลาง เคลือบหน้าด้วยน้ำอ้อยเคี่ยวจนกรอบและโรยหน้าด้วยงาคั่ว ซึ่งปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกับโดนัทที่วางขายตามร้านค้าทั่วไปแต่จะแตกต่างกันตรงที่การใช้วัตถุดิบและส่วนผสมสำคัญในการผลิต

ขนมวง เป็นขนมหรืออาหารว่าง เหมาะสำหรับทานเล่นหรือทานคู่กับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ซึ่งหาทานได้ยากในปัจจุบัน จะเป็นที่รู้จักเฉพาะคนบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ และบางช่วงอายุคน

หัวปลีทอดลาวเวียง

“หัวปลีทอดสูตรลาวเวียง” ชาวบ้านหาดสองแคว มักจะนิยมปลูกกล้วยน้ำหว้าไว้รับประทานเอง และมักจะนำหัวปลีมาทำกับข้าว เช่น ต้มยำ ต้มจิ้มน้ำพริก เป็นต้น จึงคิดว่า ถ้านำหัวปลีมาทอดเหมือนกับทอดมันปลาคงจะอร่อยดี จึงได้ทดลองทำ  ใช้แป้งผสมเครื่องแกงปรุงรสคล้ายทอดมันปลา นำไปทอด ทานเล่น หรือทานเป็นกับข้าว หรือปรุงน้ำจิ้มเพื่อเพิ่มรสชาดอีกก็ได้

“หัวปลีทอดสูตรลาวเวียง” มักจะถูกนำมาเป็นเมนูในการต้อนรับคณะศึกษาดูงานที่เข้ามาในพื้นที่ บางครั้งก็ถูกเชิญให้ไปออกร้านในงานวัฒนธรรมต่างๆ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  ปัจจุบัน “หัวปลีทอดสูตรลาวเวียง”  มีขายที่งานถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียงตำบลหาดสองแคว เป็นเมนูที่ขายดีมากๆ

ขนมดาดกระทะ

ขนมพื้นบ้านของคนหาดสองแคว นั่นคือขนมดาดกะทะ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคยกับขนมดาดกะทะ เนื่องจากปัจจุบันมีขนมมากมาย จึงหาคนทำขนมดาดกะทะได้ยากขึ้น ตามคำบอกเล่า ขนมดาดกะทะเป็นขนมพื้นบ้านของคนหาดสองแคว ที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย คนสมัยก่อนมีลูกหลายคน ไม่ค่อยมีขนมให้ลูกได้รับประทาน จึงคิดทำขนมแบบง่ายๆ และรับประทานได้หลายคน โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อขนมให้ลูกๆ วิธีการทำคือนำแป้งข้าวเจ้า (สมัยโบราณจะใช้แป้งโม่) ผสมกับน้ำตาล เกลือ และกะทิ นำมาดาดกระทะ โดยใส่น้ำมันหมูลงไปในกะทะเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขนมติดกะทะ ใช้ไฟปานกลาง ส่วนรสชาตินั้นไม่ต้องพูดถึงหวานมันอร่อยมากๆ


Visit the new site http://lbetting.co.uk/ for a ladbrokes review.